:: มาดูเรื่อง N2 กัน ::
สวัสดีค่ะ! ช่วงนี้ก็ประกาศผล JLPT ผ่านมาพักนึงแล้ว หลายคนก็ผ่าน หลายคนก็ไม่ผ่าน บางคนอีกคะแนนเดียว บางคนผ่านคะแนนรวม แต่ไม่ผ่านคะแนน 60% ในแต่ละพาท
ไคโนะเอง ผ่าน N2 แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะลั่ลล๊าได้ตามใจ ตอนนี้กำลังพยายามรวบรวมสติสตังทุกอย่างว่าตอนสอบเราทำอะไรไปบ้าง แนวข้อสอบเป็นแบบไหน เพื่อที่จะสรุปให้คนที่สนใจได้อ่าน อย่างน้อยก็มีทางปูไว้ให้ คุณจะได้เดินง่ายขึ้น
ก่อนอื่น ขอพูดถึงเรื่องข้อสอบ JLPT N2 ก่อนนะคะ ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง
1. คันจิ
ข้อสอบจะเป็นประมาณว่า ให้คันจิมา และให้เราเลือกเสียงอ่านที่ถูกต้อง หรือว่าให้เสียงอ่านมา แล้วให้เราเลือกคันจิที่ตรงกับเสียงอ่าน สำหรับพาทนี้ เทคนิคมีไม่ค่อยเยอะค่ะ เพราะเป็นพาทการจำ จำได้คือเก็บคะแนนได้สวย ๆ แต่ถ้าจำไม่ได้ มันก็มีเทคนิคอยู่เล็กน้อยคือเดาเสียงอ่านคันจิ…องโยมิ กับ คุงโยมิ ถ้าแม่นพอ ก็ช่วยได้เยอะเหมือนกันค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น 魅力
ความคิดแว๊บแรกที่โผล่มาคือ อิตัว “力” ที่อยู่ข้างหลังนี่อ่านว่า “りょく” แน่ ๆ เพราะงั้น ให้วงกลมตัวเลือกที่ด้านหลังมีคำว่า “りょく” ไว้ ตัวเลือกไหนไม่มี ก็ตัดทิ้งไปได้เลย อย่างน้อยก็ช่วยเราตัดตัวเลือกที่ผิดออกได้ แต่ถ้ามันทะลึ่ง “りょく” มาทั้ง 4 ตัวเลือก งานนี้ก็ต้องพึ่งดวงเอาล่ะค่ะ
แต่สำหรับติ่งละครญี่ปุ่นอย่างไคโนะ ไคโนะคิดว่าเรื่องนี้ช่วยไคโนะไว้หลายรอบแล้ว เพราะคันจิส่วนมากที่ออกจะเป็นคันจิทั่วไปตามช่อง TV…
สอบ JLPT รอบ 07/2015 นั้น เจอคันจิที่มาจาก TV ประมาณ 3~4 คำในข้อสอบพาทคันจิค่ะ (ยังไม่รวบที่เจอในพาทอื่น) แล้วตอนสอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่น คันจิจากชีวิตประจำวันล้วน ๆ
(ตอนสอบเจอคำว่า “距離” ← พอดีดูละครเรื่อง “近キョリ恋愛” ก็เลยรู้ว่าคันจิตัวไหน เก็บคะแนนได้สวย ๆ ค่ะ)
การจำคันจิจากสิ่งที่เราสนใจ จะทำให้เราจำได้เร็วกว่านั่งท่องค่ะ อารมณ์ว่ามันมีแรงยึดเหนี่ยว
แนะนำ : ตอนที่อ่านหนังสือสอบ ไม่ต้องไปลำบากนั่งคัดคันจิก็ได้ค่ะ เพราะข้อสอบพาทคันจินั้น มีแค่แปลงเสียงอ่านกลับไปกลับมา ไม่มีให้เขียนเส้นใด ๆ ทั้งสิ้น
(แต่ถ้าใครที่จำได้จากการ “คัด” แล้วล่ะก็ งานนี้งานหินค่ะ)
… … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … …
2. คำศัพท์
พาทนี้ไม่ต่างจากคันจิค่ะ จำได้คือลอยลำไปเลย จำไม่ได้ก็งมกันอยู่ตรงนั้นแหละ พาทนี้เป็นพาทที่ไคโนะอ่อนมาก ถ้าเป็นไปได้ ไม่ใช่แค่ท่องศัพท์อย่างเดียว แต่มันจะมีศัพท์ประสมเข้ามาด้วย เช่น “振り返る” เป็นการรวมคำของศัพท์ 2 คำคือ “振ります” และ “返る” เราอาจจะใช้คันจิช่วยเดาความหมายได้ค่ะ แต่หลายครั้งที่พอมารวมกันแล้วความหมายไปคนละเรื่องเลยก็มี
วิธีแก้ไข หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยได้ค่ะ

อีกอย่าง มันจะมีข้อสอบประมาณ 4 ข้อที่ให้เราเลือกว่าคำศัพท์ตัวนี้ควรจะใช้ในบริบทไหน อันนี้ยากมากค่ะ ถ้าเรารู้ความหมาย แต่ไม่รู้วิธีการใช้ ก็เจ๊งเหมือนกัน แนะนำให้อ่าน “新完全マスター N2” ค่ะ เพราะมีให้ฝึกพาทนี้อยู่ อีกอย่าง จากเล่มนี้ เท่าที่จำได้ ออกอยู่ 3 ข้อ (เป็นหนังสือที่ศัพท์แม่นที่สุด เท่าที่เคยอ่านแล้วค่ะ)
… … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … …
3. ไวยากรณ์
เรื่องไวยากรณ์นี้ แม่นไวยากรณ์อย่างเดียวไม่พอค่ะ มันต้องอ่านความหมายทั้งประโยครู้เรื่องด้วย นั่นแสดงว่าคุณจะต้องแม่นทั้งคำศัพท์และคันจิ…. (งานนี้ก็จำเหมือนเดิมค่ะ) เพราะถ้าเราอ่านประโยครู้เรื่อง เราก็จะสามารถเติมประโยคไวยากรณ์ที่ขาดหายไปได้ อีกอย่าง มันจะทะลึ่งทำเป็น ไวยากรณ์คล้ายกันทั้ง 4 ตัวเลือก แต่จะมีแค่ 1 ตัวเลือกเท่านั้นที่ใช้ถูกสถานการณ์…สรุปคือ นอกจากจะจำไวยากรณ์แล้ว ยังจะต้องรู้ด้วยว่า ไวยากรณ์ตัวนั้น มีไวยากรณ์อื่นที่ความหมายคล้ายกันมั้ย ถ้าคล้าย จะต้องหาจุดต่างกันให้ได้ เช่น
V ผัน ば、
V ผัน た + ら、
V ผันรูปพจนานุกรม + と
ทั้ง 3 ไวยากรณ์ข้างบน แปลว่า “ถ้า V “ เหมือนกัน แต่สถานการณ์การใช้หรือข้อจำกัดในการใช้จะแตกต่างกัน… ประมาณนี้ค่ะ (นี่โหดสุดและ แต่ก็ไม่เยอะค่ะ), วิธีแก้ความโหดนี่คือ พยายามอ่านตัวอย่างประโยคเยอะ ๆ
… … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … …
4. การอ่าน
พาทนี้ไคโนะได้คะแนนน้อยสุด เทคนิคที่ทำคือ “อ่านคำถาม + ตัวเลือกก่อน แล้วค่อยไปแสกนหาในเนื้อเรื่อง”
ทำไมถึงต้องทำแบบนั้น? เพราะเรามีเวลาไม่มากพอค่ะ พาทอ่านของ N2 จะแบ่งเป็น 2 แบบ
1. เรื่องสั้น (แต่จะต้องไปตีความหมายเอาเอง) ← ยาก
2. เรื่องยาว (คำตอบอยู่ในนั้นเลย ถ้าสามารถอ่านได้ทั้งเรื่องคือเจอคำตอบ แต่มันยาวมากกว่า 1 หน้า A4 พร้อมทั้งมีศัพท์แปลก ๆ ที่จะอธิบายความหมายไว้ให้เราท้ายเรื่อง) ← ง่าย
เทคนิค : 1. ศัพท์, คันจิ → ถ้าแม่น ช่วยได้มากกว่า 70% จะเพิ่มอัตราการอ่านของเราได้เร็วขึ้น
2. ไวยากรณ์ที่อยู่ในบทอ่าน → ไม่ค่อยยากเท่าไร
3. พึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้าไม่มีเขียนในบทอ่าน แสดงว่า “ผิด” อย่าไปมโนว่า อ้าว ความจริงมันได้นินา คือในโลกความเป็นจริงอาจจะได้ค่ะ แต่ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่โลกของบทความที่เรากำลังอ่าน เพราะงั้น มันคนละโลกกับเราค่ะ
4. ในบทอ่านยาวนั้น อ่านคำอธิบายศัพท์แปลก ๆ ท้ายเรื่องก่อน จะช่วยให้เรารู้ว่าเรื่องจะพูดถึงอะไร
5. ถ้าถามว่า “คนเขียนอยากจะบอกอะไร” ส่วนมากจะอยู่ย่อหน้าแรก ไม่ก็ย่อหน้าสุดท้าย
6. ถ้าถามถึงองค์ประกอบของ OO : ส่วนมากจะอยู่ตรงกลางเรื่องในส่วนของ body พยายามหาคีย์เวิร์ด เช่น まず、一番目 เป็นต้น
… … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … …
5. การฟัง
กรุณาแปลผ่านไขสันหลัง อย่าแปลผ่านสมองค่ะ… ทำไมถึงพูดว่างั้น เวลาที่เราทำข้อสอบฟัง อันดับแรก สติค่ะ เราไม่จำเป็นที่จะต้องฟังแล้วแปลเป็นไทยในหัว ถ้าสามารถพอ ให้ฟังแล้วไม่ต้องแปลค่ะ ถ้าใครเรียนสายวิทย์มา จะรู้ว่าปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย มีการสั่งคำสั่งแบบผ่านไขสันหลัง และผ่านสมอง
ถ้าผ่านไขสันหลัง จะเร็วกว่าผ่านสมอง
พาทการฟังก็แบบนั้นแหละค่ะ พยายามฝึกฟังแบบไม่ต้องแปล ให้มันไหลเข้าหู แล้วเข้าใจไปเอง ไม่ต้องเอามันไปผ่านสมองแล้วกรองออกมาเป็นภาษาไทย
ถามว่าฝึกยังไง : สำหรับไคโนะ โหลดวิทยุมาแล้วแปลงเป็น mp3 ฟังในโน๊ตบุค กับใน iPod ค่ะ ตอนวิ่งออกกำลังกายแทนที่จะฟังเพลง ก็ฟังวิทยุแทน ตอนนอนก็เปิดโน๊ตบุคทิ้งไว้ทั้งคืน ปล่อยให้มันเล่นวิทยุหมุนไปหมุนมาจนเช้า แล้วก็จะได้เป็นธรรมชาติขึ้นมาเองค่ะ
อีกอย่างคือ พยายามฝึกจด การฟังระดับ N2 นั้น มันไม่ใช่เรื่องสั้น ๆ แล้วค่ะ มันจะยาวเป็นพรืดดดด!!! มา 1 รอบ แล้วค่อยถามคำถาม คือถ้ามันเอ่ยคำถามก่อน อย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่าถามเรื่องอะไร จะได้จับจุดได้ แต่นี่ให้ฟังเรื่องทั้งหมดก่อน แล้วค่อยถาม งานนี้ต้องจดค่ะ (ฟังรอบเดียวด้วยนะ)
การฝึกจดนั้น แรก ๆ ก็ยากค่ะ จดไม่ทัน ไม่รู้จะจดอะไร แต่ถ้าฝึกไปเรื่อย ๆ เราจะรู้เองว่าควรจะใช้อักษรย่อ หรือสัญลักษณ์ เดี๋ยวก็ชำนาญค่ะ ฝึกไปเรื่อย ๆ
หลักการจดของไคโนะคือ What, Where, When, Why, How….เวลาจดก็จดเป็นคำสั้น ๆ เรียงลำดับเหตุการณ์ไว้ด้วยค่ะ
อีกอย่าง เนื้อเรื่องจะพูดถึงทุกตัวเลือกที่ให้มาเลยค่ะ แต่มันจะพูดวกไปวนมา เช่น ตอนแรกเลือกซื้อชิ้น A แต่มันจะมีเสียงผู้ชายแทรกมาว่า ชิ้น A มัน OO นะ เอาชิ้น B ดีกว่ามั้ย เสียงผู้หญิงก็จะทำเป็นคิด คราวนี้มีโอกาสตอบได้ 2 คำตอบคือ
1. ผู้หญิงยืนยันความคิดเดิมจะซื้อชิ้น A (ตรงนี้ต้องฟังเหตุผลของผู้หญิงให้ดี)
2. ผู้หญิงซื้อชิ้น B ตามผู้ชาย
ศัพท์ไม่ยาก แต่มันยากตรงที่มันจะกลับไปกลับมาให้เรางงว่า สุดท้ายแล้วซื้ออะไรกันแน่
ประมาณนั้นค่ะ (พี่ล่ามบอกว่า N1 ก็เช่นกัน)
… … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … …
เท่าที่ทำก็ประมาณนี้ค่ะ เน้นหนักที่สุดคือคำศัพท์กับคันจิ เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับทุกพาท ส่วนไวยากรณ์ไคโนะไม่ค่อยเน้นเท่าไร เพราะเป็นไวยากรณ์ที่เรา ๆ เรียนกันในคลาสอยู่แล้ว ไม่เกินนั้น
ถ้าถามว่าระยะเวลา 3 เดือนเตรียมตัวทันมั้ย? ไคโนะตอบเลยว่า ทันค่ะ ถ้าเป็นคนที่มีเวลาว่าง 3 เดือนให้สุมตัวเองกับ N2
ยกตัวอย่างเช่นสาขาของไคโนะ ปีสูง ๆ จะดีตรงที่ว่า ช่วงปิดเทอม สามารถเลือกหนังสือเล่มไหนก็ได้ เอามาทำเป็นการบ้านปิดเทอมส่ง เพราะงั้น ก็สามารถเลือกหนังสือที่เกี่ยวกับ N2 อ่านทั้ง 3 เดือนเลยก็ได้
แต่ถ้าใครที่อยู่ในวัยทำงาน แน่นอนว่าเวลาว่าง 3 เดือนแบบปิดเทอมนี่ไม่มีแน่ ๆ จันทร์-ศุกร์ทำงาน หรืออาจจะควบวันเสาร์ด้วย วันอาทิตย์พักผ่อน หรือถ้าใครที่กำลังเรียนอยู่ ก็อาจจะแบบที่สาขาไม่มีให้ทำการบ้านส่งตอนปิดเทอม แบบนี้ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวมากกว่า 3 เดือนค่ะ
มันก็ขึ้นกับสภาพแวดล้อมของแต่ละคน แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ อาศัยการอ่านสะสมวันละนิดวันละหน่อยก็ได้ รอบเดือน 7 อาจจะยังไม่สอบ ไปรอสอบรอบเดือน 12 เลย ประมาณนั้น
แต่ถีงยังไง ก็คงต้องพยายามกันต่อไปล่ะค่ะ แนวทางของคนอื่น เราสามารถอ่านและนำไปประยุกต์ให้เข้ากับแนวทางของตัวเองได้
… … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … …
ถ้าพยายาม ซักวันจะต้องสอบได้แน่นอนค่ะ
อาจจะไม่ได้ในรอบที่ 3 อาจจะไม่ได้ในรอบที่ 5
แต่ถ้ายังคงพยายาม ยังไงก็ต้องได้ในซักรอบแน่ ๆ ค่ะ
… … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … … …